WELCOME TO EMS

ยินดีต้อนรับสู่สำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดกำแพงเพชร

สำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดกำแพงเพชร

วันอังคารที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดกำแพงเพชร 1669

ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดกำแพงเพชร
อุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร. 1669
ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งอยู่ที่ โรงพยาบาลกำแพงเพชร ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ภายใต้การดูแลของสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดกำแพงเพชร มีหน้าที่ในการแจ้งเหตุทางหมายเลข 1669 กรณีของการเกิดจากมอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และสั่งการให้หน่วยอาสาสมัครกู้ชีพที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ออกไปรับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ

วันจันทร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
(EMERGENCY MEDICAL SERVICE SYSTEM หรือ EMS)

ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน คือ การจัดการให้มีการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ ซึ่งมีส่วนร่วมจากทุกภาค ทุกองค์กรในชุมชนทุกระดับ เน้นหนักในด้านความรวดเร็ว วิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง การขนย้ายและการนำส่งที่เหมาะสม โดยจัดให้มีระบบการรับแจ้งเหตุ หน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพและทั่วถึง ตลอดจนเครือข่ายโรงพยาบาลที่เหมาะสมกับสภาพของผู้เจ็บป่วย เพื่อลดการตาย การพิการและความทุกข์ทรมานโดยไม่จำเป็น ลดขั้นตอนและวิธีการรักษา ลดค่าใช้จ่ายและความสูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการสร้างความมั่นใจ และความพึงพอใจให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนนั้น ๆ
EMS ช่วยแก้ปัญหา อะไร
EMS ช่วยแก้ปัญหาในการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่
· ความล่าช้า
· การดูแลรักษาผู้ป่วยที่ไม่ถูกวิธี
· การนำส่งผู้ป่วยที่ผิดที่
ซึ่งนำไปสู่ การตาย การพิการ การทุกข์ทรมาน ความยุ่งยากในการรักษา ความสูญเสีย
ทางเศรษฐกิจ และความเดือดเนื้อร้อนใจของประชาชนในชุมชน โดยไม่จำเป็น
EMS ทำอย่างไร จัดให้มีระบบบริการรองรับ 3 ประการ ได้แก่
· มีระบบรับแจ้งเหตุ
· มีหน่วยปฏิบัติการกู้ชีพ
· มีการประสานงานเพื่อการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม
ระบบรับแจ้งเหตุ คือ การจัดให้มีระบบบริการแจ้งเหตุที่ง่ายต่อการจำ ง่ายต่อการเรียก ง่ายต่อการถ่ายทอดข้อมูล ง่ายต่อการได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม หมายเลข 1669 โทรฟรี ให้คำแนะนำ จัดหาหน่วยกู้ชีพที่เหมาะสม ประสานการจัดหายานพาหนะเพื่อลำเลียงขนย้าย และประสานโรงพยาบาลที่รับรักษา โดยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์
ในขณะเดียวกัน การแจ้งเหตุอาจทำโดยการแจ้งหรือประสานทางวิทยุสื่อสารเครือข่าย
ตำรวจ ดับเพลิง สถานีวิทยุกระจายเสียงบางแห่งหรือโทรศัพท์สายตรงไปยังหน่วยปฏิบัติการกู้ชีพ หรือโรงพยาบาลได้อีกด้วย
หน่วยปฏิบัติการกู้ชีพหรือหน่วยปฏิบัติการ ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หมายถึง
หน่วยบริการหรือองค์กรของรัฐหรือเอกชนที่ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักบริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งหน่วยบริการและบุคลากร ประกอบด้วย
1. หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (First Responder)
2. หน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐาน BLS (Basic Life Support)
3. หน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูง ALS (Advanced Life Support)

ข้อกำหนดด้านหน่วยปฏิบัติการ บุคลากร พาหนะ และบทบาทหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติการ
ตามแนวทาง ในคู่มือการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ของศูนย์นเรนทร พ.ศ. 2550 มีดังนี้
1. หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (First Responder)
1.1 ข้อกำหนดของหน่วยปฏิบัติการ
1.1.1 เป็นหน่วยปฏิบัติการที่สามารถประเมินสถานการณ์และสภาพผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน
ให้การปฐมพยาบาล การช่วยเหลือฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน เคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างถูก
วิธี สื่อสารประสานงานกับศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการประจำจังหวัด และร่วม
ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยปฏิบัติการ ในระดับที่สูงกว่า
1.1.2 ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินประจำจังหวัด
1.1.3 สามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
1.2 ข้อกำหนดด้านบุคลากร
1.2.1 เป็นบุคลากรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นอาสากู้ชีพ (First Responder: FR) กับ
สำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินประจำจังหวัด และผ่านการอบรม
หลักสูตรการปฐมพยาบาลและการเคลื่อนย้ายขั้นพื้นฐานของกระทรวงสาธารณสุข (16 ชม.)
1.2.2 มีบุคลากรปฏิบัติงาน 10 คน / ทีม สำหรับเปลี่ยนเวรการปฏิบัติงานใน 24 ชม.
1.2.3 สุขภาพแข็งแรงไม่เป็นอุปสรรค์ต่อการปฏิบัติงาน
1.2.4 อายุ 18 – 60 ปี
1.2.5 ผ่านการอบรมฟื้นฟูความรู้ทุก 2 ปี
1.3 ข้อกำหนดด้านพาหนะ
1.3.1 รถกระบะดัดแปลงหลังคาสูง รถตู้ หรือเรือติดเครื่องมีประทุนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นพาหนะปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น(อนุโลมให้ใช้รถปิกอัพตอนเดียวที่ไม่มีหลังคาได้ในระยะเริ่มแรก)
1.3.2 มีเปลสำหรับขนย้ายผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่สามารถยึดตรึงกับพาหนะ 1.3.3 อุปกรณ์ปฐมพยาบาล
- ลูกสูบยางแดง
- Pocket Mast
- อุปกรณ์ห้ามเลือด ทำแผล
- อุปกรณ์หนีบสายสะดือ
- อุปกรณ์การดามแขนขา
1.3.4 อุปกรณ์การดามและยึดตรึง
- Hard Collar
- แผ่นรองหลังแบบยาวพร้อมอุปกรณ์ประคองศีรษะ และสายรัดตรึง ศีรษะ
(Long Spinal Board ) พร้อม Head immobilizer และ Belt 3 1.3.5 อุปกรณ์ป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ
- ถุงมือ
- Mask
- ถุงขยะติดเชื้อ
- ผ้ากันเปื้อน
- รองเท้าบู๊ท
1.3.6 อุปกรณ์ควบคุมสถานการณ์
- กรวยจราจร
- ไฟฉาย
- เสื้อสะท้อนแสง
- เทปกั้นการจราจร
1.3.7 อุปกรณ์การสื่อสาร วิทยุสื่อสารมือถือ
1.3.8 คู่มือการปฏิบัติงาน (Protocol)
1.4 บทบาทหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น
1.4.1 ปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบการปฏิบัติงานของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
1.4.2 ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น
1.4.3 จำแนกประเภทผู้ป่วย (Triage)
1.4.4 ประเมินสภาพผู้ป่วย
1.4.5 สื่อสารประสานงานและขอความช่วยเหลือ เมื่อเกินขีดความสามารถ
1.4.6 ให้การปฐมพยาบาล การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน
1.4.7 เคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างถูกวิธี
1.4.8 ให้การดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินขณะนำส่ง
1.4.9 ส่งมอบผู้ป่วย ณ สถานพยาบาลตามการประสานงานกับศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ
1.4.10 บันทึกรายงานการปฏิบัติงาน
1.4.11 ทำความสะอาดรถปฏิบัติการและเก็บอุปกรณ์
ในการปฏิบัติการแต่ละครั้ง มีขั้นตอนหลักที่จะต้องคำนึงเพื่อให้การปฏิบัติการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ต้องการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลเบื้องต้น ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ป่วย ผู้พบเห็น หรือญาติแจ้ง 1669 วิทยุสื่อสาร หรือ โทรศัพท์ ซึ่งผู้ป่วยหรือผู้พบเหตุต้องมีความรู้ในการประเมินการเจ็บป่วย ถ้าหากละเลยทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือพิการได้
2. ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการประจำจังหวัด ซักถามเหตุการณ์การบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย อาการและจำนวนผู้ป่วย เพื่อประเมินสถานการณ์และความรุนแรงของการเจ็บป่วย พร้อมทั้งสถานที่ที่เกิดเหตุ ชื่อผู้แจ้ง เบอร์โทรศัพท์หรือรหัส จากนั้นให้คำแนะนำการให้การช่วยเหลือเบื้องต้น ณ จุดเกิดเหตุแก่ผู้แจ้ง
3. ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการประจำจังหวัด สั่งการให้หน่วยปฏิบัติการ (ALS, BLS, หรือFR ) ตามโซนรับผิดชอบของหน่วยให้บริการนั้นๆ โดยระยะเวลาตั้งแต่รับแจ้งเหตุจนถึงสั่งการไม่ควรเกิน 1 นาที
4. เมื่อได้รับคำสั่งจากศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ พร้อมข้อมูลประเภทเหตุการณ์ อาการและจำนวนผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ ได้รับแจ้ง และสถานที่เกิดอุบัติหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน หน่วยปฏิบัติการต้องออกปฏิบัติการไม่เกิน 2 นาที (ในพื้นที่ชนบทอาจอนุโลมให้นานกว่านี้ตามสภาพของแต่ละท้องถิ่น)

สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมและมีสำหรับหน่วยกู้ชีพระดับตำบล

สิ่งที่องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)/เทศบาลเมือง/เทศบาลตำบล ต้องเตรียมสำหรับการจัดตั้งหน่วยกู้ชีพระดับตำบล
1. รถพยาบาลเป็นรถกระบะดัดแปลงตอนเดียว ยกเว้น 4 ประตู สำหรับหลังคามีหรือไม่มีก็ได้
2. บุคลากรสำหรับปฏิบัติงาน อย่างน้อย 10 คน สำหรับการหมุนเวียนกันปฏิบัติงานได้ 24 ชั่วโมง จบการศึกษาขั้นต่ำ ป.6 อ่านออกเขียนได้ สามารถขับรถได้และมีใบอนุญาตขับขี่
3. วิทยุสื่อสารมือถือ
ส่วนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร จะให้การสนับสนุนดังต่อไปนี้
1. อบรมให้ความรู้ด้านวิชาการหลักสูตรการปฐมพยาบาลและการเคลื่อนย้ายขั้นพื้นฐานของกระทรวงสาธารณสุข (16 ชม.)
2. อุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยขั้นพื้นฐานหน่วยละ 1 ชุด
3. ค่าตอบแทนหน่วยบริการกู้ชีพในการออกให้บริการแก่ประชาชนครั้งละ 350 บาท

หากมีข้อสงสัยประการใดโปรดติดต่อไปที่ งานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร โทรศัพท์. 055 – 705187-8 ต่อ 130 หรือ ห้องปฐมพยาบาล โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในพื้นที่ของแต่ละอำเภอ หรือติดต่อโดยตรงที่ นายณัฐพงศ์ วิมานสาร โทร. 089-6416331, 084-6218210 นายสหภาพ พูลเกษร โทร. 084-1532795

ผลการดำเนินงานของจังหวัดกำแพงเพชร

  • ข่าวสาร EMS
  • ผลการออกปฎิบัติงานหน่วยกู้ชีพ
  • การแข่งขัน Rally EMS เขต 3 ที่จังหวัดนครสวรรค์

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

ศูนย์ราชการกำแพงเพชร ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร, Thailand
สำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดกำแพงเพชร ภายใต้สังกัดของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร